ข่าวเด่นออนไลน์เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก iLaw ออกมาเผยแพร่เรียงความในหัวข้อเรื่อง วัยเยาว์ที่สาบสูญ ซึ่งมาพร้อมกับคำถามที่ปวดใจ จากเยาวชนรุ่นใหม่คนนี้คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคนหนึ่ง “เพราะเราไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือ รัฐบาลถึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเด็กน้อยขนาดนี้”
วัยเยาว์ที่สาบสูญ เรียงความเปิดใจ พร้อมคำถามจุกๆ ฝากถึงกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งที่เด็กได้รับเหมาะสมกับคำว่า “เด็กเป็นอนาคตของชาติ”
เวลา 9.00 น.โดยประมาณของวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก iLaw ออกมาเปิดเผยเรียงความสุดเศร้า มาพร้อมกับคำถามสะเทือนใจจากเยาวชนฝากถึงรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
วัยเยาว์ที่สาบสูญ: การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน ความล้มเหลวของการบริหาร และความโหดร้ายของระบบการศึกษา โดยณภัทร คงเมือง
ท่ามกลางสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ที่บีบให้ประชาชนต้องอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “New Normal” ทุกอาชีพล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจ แรงงาน ฯลฯ ธุรกิจและประชาชนต่างต้องปรับตัวท่ามกลางความโหดร้ายของโรคระบาด และความล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของหน่วยงานภาครัฐ
แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ถูกละเลยมากที่สุด คือ กลุ่มของนักเรียน ที่ถูกผลักให้ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ทั้งการบริหารจัดการด้านการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ เลื่อนเปิดเทอมก็แล้ว เรียนออนไลน์ก็แล้ว แม้เป็นเวลากว่า 1 ปี ที่ระบบการศึกษาตกอยู่ภายใต้การควบคุมที่ยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่มีการเรียนรู้จากสถานการณ์ ไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม ออกนโยบายเสมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง แสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจในตัวผู้เรียนของผู้บริหารกระทรวง นอกจากนี้ ในด้านอื่นๆ ที่ทำให้นักเรียนเสมือนไม่ใช่ประชาชนคนหนึ่งในประเทศนี้ ทั้งการบริหารจัดการวัคซีนที่ขาดการเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีนสำหรับเด็ก หรือการบริหารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของนักเรียน ไม่มีการเยียวยานักเรียน ทั้ง ๆ ที่มีนักเรียนบางคนต้องทำงานหารายได้เพื่อส่งตัวเองเรียนตั้งแต่อายุ 15 ปี ไม่มีการเยียวยาในเรื่องค่าเทอมอย่างเป็นระบบ
แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเป็นสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่กลับแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการสถานการณ์ และความโหดร้ายของระบบการศึกษาไทยที่นักเรียนไทยต้องเผชิญ
ระบบการเรียนออนไลน์ เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดี แม้ช่วงแรกจะมีการพัฒนาการเรียนการสอนผ่านระบบ DLTV แต่ก็ไม่พบว่ามีการพัฒนาต่อ แต่กลับผลักภาระให้โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียนให้จัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ทั้งการใช้ Zoom, Google Classroom และอื่นๆ
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการผลักภาระและส่งผลให้เด็กหลายคนไม่สามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ทั้งอุปกรณ์ที่ไม่เพียบพร้อม สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เข้าใจของผู้ปกครองต่อการเรียนออนไลน์ หลายครั้งเรายังพบนักเรียนที่เรียนออนไลน์ต้องเรียนไปด้วยและช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพไปด้วย ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการเรียน อีกทั้งรูปแบบการเรียนการสอนในหลายรายวิชาก็มิได้ปรับตัวตามสภาพที่ควรจะเป็น ยังคงเน้นภาระงานแบบเดิม หรือภาระงานกลุ่มที่ต้องร่วมกันทำชิ้นงานซึ่งไม่สามารถทำได้ในยุคโควิด-19 เหล่านี้คือ สิ่งที่นักเรียนไทยต้องเผชิญ แม้ครูหลายท่านจะพยายามปรับการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสม ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมและขอบคุณที่พยายามเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนที่ดีให้กับนักเรียน แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าครูบางท่านก็ยังไม่สามารถปรับได้ดีพอ
มิหนำซ้ำในโรงเรียนบางแห่งมีนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สำหรับการเรียนได้ ส่งผลให้มีนักเรียนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่พึ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานานแล้ว เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 จึงเห็นปัญหาชัดมากขึ้น แต่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงกลับไม่ได้หาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงเป็นเครื่องชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการในด้านการไม่สามารถสร้างระบบการศึกษาที่ดีได้
ตลอดระยะเวลาการระบาดของโควิด-19 เด็กนักเรียนถูกปฏิบัติแบบทิ้งไว้ข้างหลัง พวกเราไม่มีเสียงที่ดังพอในการส่งเสียงไปถึงรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในเรื่องต่างๆ แม้แต่เรื่องวัคซีนที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งมีวัคซีนเพียงตัวเดียวที่สามารถฉีดให้กับเด็กอายุ 12-18 ปีได้ ก็คือ Pfizer-BioNTech ที่ถึงแม้จะมีการสั่งซื้อเข้ามาแล้ว แต่ก็ไม่มีแผนในการนำมาฉีดให้เด็ก ทั้ง ๆที่ อย. มีการรับรองให้ใช้สำหรับอายุ 12 ปีขึ้นไป แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน จนไม่อาจปฏิเสธคำถามของนักเรียนที่ดังมาจากทั่วทุกสารทิศที่ว่า “เพราะเป็นเด็กในประเทศไทย เลยถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือ เพราะเราไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือ รัฐบาลถึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเด็กน้อยขนาดนี้”
ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เป็นช่วงสุดท้ายของการเรียนรู้ในโรงเรียน พวกเราต่างเสียโอกาสช่วงสุดท้ายไปกับการบริหารที่ผิดพลาดและความโหดร้ายของระบบการศึกษา ต้องใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโดยไม่ได้มีโอกาสเจอเพื่อน กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต เช่น ค่ายแนะแนวคณะต่างๆ กิจกรรมกีฬาสี กิจกรรม Open House ฯลฯ ก็ไม่สามารถจัดได้ ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดโอกาสในการค้นหาตัวเองในอนาคต เนื่องจากมันเป็นไปไม่ได้ที่จะค้นหาตัวเองเจอในสถานการณ์ที่เราโดนขังอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีโอกาสไปหาแรงบันดาลใจ เผชิญกับปัญหาทางสุขภาพจิตที่ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิต ความกระตือรือร้นถดถอย และยังเผชิญหน้ากับระบบการศึกษาที่ย่ำแย่อย่างเรื้อรัง การจัดสอบจำนวนมหาศาล และความไม่แน่นอนของราชการที่ทำหน้าที่จัดสอบ ส่งผลต่อการวางแผนของนักเรียนเป็นอย่างมาก นอกจากสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลให้เกิดแผลใหม่ในระบบการศึกษาแล้ว แต่ยังเป็นการราดกรดลงบนแผลเดิมให้ทั้งแสบ และเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น
ในฐานะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคนหนึ่ง ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ผู้มีอำนาจ รวมถึงภาคส่วนราชการ ให้ตระหนักถึงการมีอยู่ของเด็ก คุณภาพทางการศึกษา การเยียวยา และคุณภาพชีวิตของเด็ก ดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ครอบคลุม รอบด้าน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวเด็ก ดังที่ท่านพร่ำบอกว่า “เด็กเป็นอนาคตของชาติ” แต่ท่านกลับกำลังทำร้ายอนาคตของชาติเสียเอง โดยอย่างน้อยเป็นขั้นต่ำที่สุดที่ต้องทำให้ได้ ต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้
เร่งการจัดหาวัคซีนที่สามารถใช้ในเด็กกลุ่มอายุ 12-18 ปี เพื่อให้สามารถเปิดเรียนแบบปกติได้ โดยมีการจัดลำดับความสำคัญที่เหมาะสมตามพื้นที่ และเมื่อมีการวิจัยในกลุ่มอายุต่ำกว่านั้นต้องมีการศึกษาผลการวิจัยและปรับกฎระเบียบให้สามารถฉีดในเด็กกลุ่มอายุอื่นได้โดยด่วน
กระทรวงศึกษาธิการเร่งสำรวจความพร้อมในการเรียนออนไลน์ และสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับจัดการเรียนการสอนสำหรับครู และนักเรียน ทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชุดแบบฝึกหัดที่เหมาะสมเป็นมาตรฐาน ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่สามารถใช้ในการเรียนได้ รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าบริการอินเตอร์เน็ต หรือค่าอุปกรณ์
เร่งดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง หลักสูตรทางการศึกษา ระบบการศึกษา ปริมาณการสอบ สัดส่วนคะแนน รวมทั้งรูปแบบการจัดการเรียนการสอน โดยศึกษาจากปัญหาและข้อผิดพลาดที่เห็นภาพชัดขึ้นในยุคโควิด-19 เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมโลก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อเสนอขั้นต้นเท่านั้น แต่กระทรวงศึกษาธิการยังคงต้องพัฒนาด้านอื่นๆ อีกมาก ทั้งการจัดทำ Big Data ข้อมูลของนักเรียนให้มีความเชื่อมโยง กระจายโอกาสทางการศึกษา ลดปัญหานักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา
ผมอยากจะเชิญชวนทุกท่านมาร่วมเรียกร้องเพื่อให้กระทรวงศึกษาปฏิบัติต่อเด็กให้เหมาะสมกับคำว่า “เด็กเป็นอนาคตของชาติ”
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ iLaw
สนับสนุนโดย
UFABET | UFA365 | UFABET เข้าสู่ระบบ | UFABET เว็บตรง | สล็อต เว็บตรง | SLOTXO | สล็อต | PG SLOT | สล็อต XO | สล็อต | JOKER123 | สล็อต เว็บตรง | สล็อตโจ๊กเกอร์